วัสดุแห่งความยั่งยืน
เหล็กกล้ารีไซเคิล
เหล็กกล้า(steel) ถือเป็นวัสดุที่มีความสามารถในการรีไซเคิลได้มากที่สุด จากกระบวนการรีไซเคิลเหล็กกล้าที่ถูกพัฒนามายาวนานกว่าร้อยปีแล้ว จนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันเหล็กกล้าสามารถนำมารีไซเคิลได้เกือบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์โดยไม่สูญเสียคุณภาพของวัสดุ เป็นผลให้การผลิตเหล็กกล้าจากเศษเหล็ก (Steel scrap)ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในแต่ละปีเศษเหล็กถูกนำกลับมาผลิตเป็นเหล็กกล้ามากถึงกว่า 500 ล้านตัน โดยคิดเป็นสัดส่วน 30% ของการผลิตเหล็กกล้าทั้งโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้าในประเทศไทยที่ใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเกือบทั้งหมด โดยมีขั้นตอนคือเศษเหล็กไม่ว่าจะเป็น กระป๋องเหล็ก ซากเรือ ตัวถังรถเก่า ขยะอิเล็กโทรนิค เศษเหล็กจากโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ จะถูกรวมรวมมาจากแหล่งต่างๆ แล้วคัดแยกเหล็กออกจากวัตถุที่ไม่ใช่เหล็กด้วยแม่เหล็ก จากนั้นจึงส่งเหล็กเข้าเตาหลอม หลอมเป็นน้ำเหล็ก ผ่านการปรับปรุงค่าทางเคมี รีด ขึ้นรูป และผ่านกระบวนการอื่นๆ เพื่อให้ได้เป็นเหล็กชิ้นใหม่ตามต้องการ เช่น เหล็กเส้น เหล็กรูปพรรณ ชิ้นส่วนรถยนต์ รางรถไฟ ท่อ ภาชนะต่างๆ เป็นต้น และเมื่อของใช้ที่ผลิตจากเหล็กกล้าเหล่านี้กลายเป็นขยะก็จะถูกนำกลับมาหลอมใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การรีไซเคิลนั้นนอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการใช้วัสดุใหม่ ลดปริมาณของเสียในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ลดปริมาณไอเสีย น้ำเสีย นอกจากนี้ของเสียที่เกิดจากกระบวนการหลอมเหล็ก ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นก้อนสีดำที่ออกมาพร้อมกับน้ำเหล็ก ที่เรียกว่า แสลก(Slag) ซึ่งแสลกนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ส่วนผสมในการผลิตซีเมนต์หรือวัสดุแทนหินในการหล่อคอนกรีต รองพื้นถนน ทำปุ๋ย วัสดุปรับปรุงดิน เป็นต้น
LEED Certified
เหล็กเส้นก่อสร้างถือเป็นวัสดุเหล็กกล้าที่ผ่านกระบวนการการรีไซเคิลเกือบทั้งหมด ดังนั้นเหล็กเส้นเหล่านี้จึงเข้าข่ายเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับการขอประเมินอาคารสีเขียว หรือLEED(Leadership in Energy and Environmental Design) ในหมวดการใช้วัสดุและทรัพยากร ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบ recycle ที่เป็นส่วนประกอบของวัสดุก่อสร้างในโครงการนั้น ซึ่งทางเจ้าของโครงการสามารถขอใบรับรองด้านวัสดุ recycle ได้จากโรงงานผู้ผลิตสินค้าเหล่านั้น เพื่อเป็นเอกสารประกอบในการขอประเมิณอาคารสีเขียว